อาชีพ สล่าตีดาบ ๒
ชื่ออาชีพ : สล่าตีดาบ ๒
ชื่อ : นายประพันธ์ แสนใหม่
ที่อยู่ : บ้านขามแดง ต.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างตีเหล็ก
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : ช่างตีดาบอีกท่านของบ้านขามแดง คือ นายประพันธ์ แสนใหม่ หรือพ่อสล่าทัน ปัจจุบันอายุ ๖๘ ปี ( พ.ศ. ๒๕๖๔) เริ่มตีดาบตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๗ จากพ่อ คือพ่อจู แสนใหม่ เป็นผู้ถ่ายทอดให้ ซึ่งเป็นตระกูลตีดาบประจำบ้านขามแดง โดย เริ่มจากการตีดาบอย่างเดียว แล้วค่อยขยับขยายตีอาวุธในแบบอื่น สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่แล้ว พ่อสล่าทันจะตีดาบกรุลำปางเป็นหลัก ใช้ตราประจำตัวสล่า คือ ตราเตาและตราดอกแก้ว แต่ปัจจุบันจะเหลือเพียงตราเตาอย่างเดียว เนื่องจากตราดอกแก้วหายไป จากการสอบถามเรื่องจำนวนดาบที่สามารถตีขึ้นรูปได้ต่อวัน พบว่าในอดีตนั้นสมัยยังหนุ่มจะสามารถตีดาบได้ถึง ๓ เล่มต่อวัน แต่ปัจจุบันตีขึ้นรูปดาบได้เพียง ๒ เล่ม ซึ่งมีลูกชายเป็นผู้ช่วย
เรื่องของขนาดความยาวของดาบ ในอดีตจะวัดกันเป็นกำมือ ขนาดที่ยาวที่สุดคือ ๗-๘ กำ ปัจจุบันวัดกันเป็นนิ้ว ซึ่งกำหนดขนาดความยาว และขนาดความยาวของดาบที่ตี คือ ๑๘ นิ้ว ๑๙ นิ้ว, ๒๑ นิ้ว, ๒๓ นิ้ว๒๔ นิ้ว, ๒๕ นิ้ว, ๒๖ นิ้ว, ๒๗ นิ้ว, ๒๘ นิ้ว, และยาวสุด ๒๙ นิ้ว ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าที่สั่งมาขนาดเท่าไหร่ ซึ่งจะมีการสั่งของและมีการซื้อขายดาบมาโดยตลอด โดยในอดีตจะขายกันในราคาเล่มละ ๗ บาท เท่านั้น โดยเหล็กที่ใช้ตีขึ้นรูปดาบนั้นจะใช้เหล็กแหนบเป็นหลัก และแร่เหล็กตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น เหล็กตะไบ ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้นำมาให้ตี

วัสดุ/อุปกรณ์ : ๑. เหล็กแท่ง ๒. เตาเส่า ๓. รางน้ำ ๔. คีม ๕. ค้อน ๖. ทั่ง ๗. ตะไบ
กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : ขั้นตอนแรกสล่าจะตัดเหล็กแนบเป็นใบสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว จากนั้นมาเผาไฟให้แดงเพื่อให้เนื้อเหล็กมีความอ่อนตัวแล้วทุบขึ้นทรงดาบ ขั้นตอนนี้จะใช้สล่าประมาณ ๒ – ๓ คน โดยมีคนใช้ค้อนทุบเหล็ก ๑ – ๒ คน และคนคีบเหล็ก ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่คอยควบคุมการทุบและกำหนดรูปแบบทรงดาบอีก ๑ คน เมื่อได้ทรงดาบเรียบร้อยแล้ว สล่าจะนำตีไล่ทรงเก็บรายละเอียดอีกครั้ง ขั้นตอนต่อมาสล่าจะใช้ตะใบปัดตกแต่งใบดาบพร้อมกับการทำคมดาบ หากมีการตกแต่งสันดาบด้วยการฝักทองเหลือง ทองแดง หรือการทำร่องเลือด และการตอกตราบนใบดาบก็จะทำในขั้นตอนนี้ ลำดับสุดท้ายคือการชุบคมดาบ สล่าจะนำใบดาบที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว นำมาเผาเมื่อเนื้อเหล็กแดงได้ที่ตามความต้องการ จะนำมาใบดาบค่อยๆ จุ่มลงไปในน้ำ ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ หากผู้ชุบคมไม่มีความชำนาญอาจจะทำให้ใบดาบเสียรูปทรงได้ง่าย
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง : การเลี้ยงผีครูเตาเส่าของพ่อสล่าทันนั้น จะทำในเดือน ๓ เหนือ ออก ๑๓ ค่ำ โดยจะจัดเตรียมของเซ่นไหว้ที่นำมาเลี้ยงครูเตาเส่า ประกอบด้วย เหล้าไห ไก่คู่ ผลไม้ ขนม บุหรี่ เหมี้ยง
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 04/09/2564
เปิดอ่าน : 804 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง